I  want  to  have  many  friends.

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สร้าง Team อย่างไรให้ Work


มีคนชอบพูดกันว่า คนไทยเราเป็นคนเก่งไม่แพ้ใคร สามารถรับผิดชอบและทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากให้มาทำงานร่วมกันเป็นทีมแล้ว เรามักจะมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาความสับสนในการทำงาน ปัญหาความไม่สามัคคีของสมาชิกในทีม เป็นต้น ดังนั้น เราน่าจะมารู้กันว่าลักษณะที่สำคัญของทีมที่ดีคืออะไร

ซึ่งในที่นี้สามารถกำหนดได้เป็น 5 ลักษณะหลัก คือ


  1. มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน (Results) ทีมที่ดีต้องมีการกำหนดเป้าหมายของทีมที่ชัดเจน และที่สำคัญ สมาชิกในทีมทุกคนรับทราบเป้าหมายร่วมกัน โดยทุกคนทำงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนั้น รวมทั้งมีการวัดผลสำเร็จเป็นระยะ
  2. สมาชิกมีพันธะต่อเป้าหมายร่วมกัน (Commitment) มีการกำหนดเป้าหมายย่อยสำหรับสมาชิกแต่ละคนให้ชัดเจน และเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของทีม โดยสมาชิกในทีมมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่องานที่ตนเองได้รับมอบหมาย อีกทั้งยังมีการอาสาข่วยเหลือกัน เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตาม เป้าหมายของทีม
  3. มีการกำหนดกระบวนการที่ชัดเจน (Process) ตัวอย่างเช่น มีการกำนดวันประชุมทีมเป็นประจำ กำหนดกระบวนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดกระบวนการรองรับกรณีเกิดปัญหา เช่น เวลาหัวหน้าไม่อยู่ ใครจะรับผิดชอบแทน หรือ เวลาเกิดปัญหาขึ้น ใครจะรับผิดชอบเรื่องอะไร เป็นต้น
  4. มีการสื่อสารที่ดี (Communication) ต้องมีการสื่อสารกันภายในทีมในทุกระดับ จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน และระหว่างสมาชิกกันเอง รวมทั้งในการประชุม สมาชิกจะมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ด่วนสรุปหรือปฏิเสธความคิดเห็นของคนอื่น
  5. ความไว้วางใจกัน (Trust) สมาชิกภายในทีมไว้วางใจกันในทุกระดับ มีการแบ่งปันข้อมูลกัน และเมื่อทำผิดก็มีการยอมรับผิดและรายงานให้ทีมทราบ ทุกคนในทีมมีการทำตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน พูดคุยกันด้วยเหตุผล และไม่ตัดสินผู้อื่นในทีมโดยใช้สมมุติฐานของตนเองหรือคิดไปเอง
ลองสำรวจดูว่าทีมของเรามีลักษณะดังกล่าวหรือไม่ หากยังไม่มีหรือมีไม่ครบ คงต้องเป็นหน้าที่ของสมาชิกในทีมทุกคน ที่จะร่วมกันสร้างลักษณะดังกล่าวให้เกิดขึ้นในทีมของเรา เพื่อให้ทีมเราของสามารถสร้าง ผลงานได้ตามเป้าหมาย สมกับการเป็น Team ที่ work อย่างแท้จริง
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในคำว่า Teamwork ไม่มีพยัญชนะตัว I และ U แต่มี W และ E
ซึ่งหมายถึง ในทีมจะไม่แบ่งเป็น "ฉัน" และ "เธอ" แต่จะมี "เราทุกคน" ที่พร้อมที่จะมุ่งมั่น รับผิดชอบ เพื่อสร้างให้ทีมของเราเป็นทีมที่ยอดเยี่ยม (Excellence Team) ต่อไป

ที่มา : ประสิทธิ์ องอาจตระกูล ผู้บริหารงานสรรหาพนักงาน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย

----------------------------------------------------------------









บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการทำงาน


          เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน คนเราควรตั้งเป้าหมายของชีวิตเตรียมไว้ว่าภายในกี่ปี จะขึ้นไปอยู่ในจุดใด ตำแหน่งใด เพราะการมีเป้าหมายจะทำให้เรากำหนดทิศทางการทำงาน การปฏิบัติตัวของเรา เพื่อให้ไปถึงจุดนั้นได้ในเวลาที่กำหนด ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มักพูดแนะนำอยู่เสมอถึงวิธีการที่พวกเขาปฏิบัติตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนทำงานมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ดังนี้
  1. ข้อแรกเลยที่จะทำให้คุณทำงานได้ดี คือ ต้องสนุกสนานกับงานที่ทำ เมื่อคุณทำงานด้วยความสนุก คุณจะมีแรงขับ ในการพยายามที่จะทำงานให้ได้ดีที่สุด และประสบความสำเร็จ
  2. นอกจากสนุกสนานแล้ว ยังต้องใส่ความเอาจริงเอาจังมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จลงไปด้วย ความเพียรพยายาม จะนำพาคุณไปพบกับความสำเร็จในที่สุด
  3. ความเชื่อมั่นในตนเองต้องมีอยู่เสมอ เพราะนั่นจะทำให้คุณกล้าคิดกล้าทำ ซึ่งจะทำให้คุณได้เปรียบกว่าคนอื่น ๆ ที่มักทำตัวเป็นผู้ตามที่ดี ชอบทำตามที่คนอื่นคิด มากกว่าชอบแสดงความคิดเห็น
  4. มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้จากความคิดสร้างสรรค์ ถ้าคุณเป็นนักคิด รับรองได้ว่า คุณจะเป็นที่ต้องการของทุกองค์กรอย่างแน่นอน แม้ว่าวันนี้ยิ่งที่คิดอาจจะยังไม่เวิร์ก แต่ถ้าคุณยังไม่หยุดคิด สักวันมันต้องเวิร์ก
  5. เมื่อคนจากหลากหลายสังคมมาอยู่รวมกันในสังคมใหม่ สิ่งที่ต้องการคือการปรับตัวได้รวดเร็ว คุณอาจต้องเพิ่ม หรือลดพฤติกรรม หรือนิสัยบางอย่างของคุณ เพื่อให้เข้ากับสังคมในที่ทำงานให้ได้อย่างรวดเร็ว
  6. มีทีท่าในทางบวก คนที่คิดบวกจะแสดงท่าทีในทางบวก ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นที่รักและชื่นชมของคนรอบข้าง
  7. เรื่องความมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่ทุกคนถูกสอนมาตั้งแต่เล็ก ๆ อยู่แล้วในการทำงานก็เช่นกัน ต้องมาทำงานตรงเวลา ส่งงานตรงเวลา ปฏิบัติตามกฎบริษัทอย่างเคร่งครัด
  8. มีความซื่อสัตย์ และช่วยเหลือผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จ คนดี มีน้ำใจ อยู่ที่ไหนก็มีแต่คนรักเอ็นดู และคอยสนับสนุน ให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
  9. กล้าหาญที่จะเสี่ยง แน่นอนว่าไม่มีงานใดที่จะราบรื่นไปเสียทุกงาน เมื่อพบเจอกับอุปสรรค คุณต้องกล้าพอที่จะเสี่ยง เพื่อก้าวข้ามพ้นอุปสรรคไปให้ได้
  10. สุดท้าย ถึงแม้ว่าที่กล่าวมาข้างต้นคุณจะมีดีพร้อมหมดแล้วทุกอย่าง แต่หากคุณไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไร้ประโยชน์ ดังนั้น คุณจึงควรพัฒนาการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นอยู่เสมอ เพื่อให้คุณสามารถถ่ายทอดแนวคิดต่าง ๆ เข้าถึงทุกคนได้อย่างแม่นยำ
ที่มา : JobsDB

-----------------------------------------------------------

มองงานของคุณในมุมบวก


แม้ว่าข่าวเศรษฐกิจจะชี้แนวโน้มคนว่างงานไว้เสียจนน่าหวั่นใจ แต่ถึงกระนั้นชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไปไม่ว่าคุณจะตกงาน หรือยังมีงานทำอยู่ก็ตาม สิ่งที่หนึ่งสังเกตเห็นได้ชัดในบรรดาคนที่ยังมีงานทำอยู่ก็คือ พวกเขาจะรู้สึกรักงานที่ทำมากขึ้น เพราะอย่างน้อยมีงานทำก็ยังดีกว่าตกงาน..จริงไหม
คิดบวกช่วยให้ชีวิตของคุณเป็นสุขมากขึ้น
แม้ว่างานของคุณจะเหนื่อยยากลำบากสักเท่าไรหรือ ค่าตอบแทนอาจจะน้อยไปสักหน่อย แต่คุณก็สามารถมีความสุขได้ เพียงคุณมองงานของคุณในมุมบวก

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จง มีความสุขกับงานที่ทำ และทำมันให้ดีที่สุดเหมือนเดิม อย่าให้เรื่องของพิษเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของคุณ หรือถ้าจะมีก็ควรให้มันเป็นแรงผลักดันคุณให้ทำงานหนักขึ้นเพื่อพิสูจน์ให้ นายจ้างเห็นว่า สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ และคุณคือคนนั้น คนที่พร้อมจะอุทิศตนเพื่อบริษัทที่คุณรักในทุกสถานการณ์ และคุณมีค่ามากพอที่บริษัทจะรักษาคุณไว้
คุณเป็นคนที่โชคดี บอกตัวเอง ไว้เสมอว่า ในขณะที่หลายคนตกงานแต่คุณยังคงมีงานทำ แม้ว่ารายได้ ค่าคอมมิชชัน โอที อาจลดลงไปบ้าง คุณก็ประหยัดให้มากหน่อย ใช้จ่ายให้น้อยลง รู้จักบริหารเงินที่มี คุณก็สามารถมีเงินเหลือเก็บได้ ดีกว่าต้องตกงาน และมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับ ยิ่งในภาวะเช่นนี้ งานหายาก ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้งาน เงินที่เก็บไว้ก็มีแต่จะร่อยหรอลงไปเสียอีก
ความสุขไม่ได้อยู่ที่ค่าจ้างเสมอไป แม้งานของคุณจะไม่ได้สร้างรายได้ให้คุณอย่างมากมายนัก แต่บางคนก็พอใจกับสิ่งที่ได้ทำ มากกว่าเงินที่ได้รับ บางคนลาออกจากงานประจำที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ มาทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมในองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร การที่เรามองว่างานของเรามีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น มีประโยชน์ต่อสังคม แม้จะได้เงินน้อยก็ไม่เป็นไร เพราะเรื่องเงินเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น คิดได้เช่นนี้เราก็จะมีความสุขได้
เรื่องเล็กน้อยก็สร้างความสุขได้ ข้อดีของงานที่คุณทำอาจอยู่นอกเหนือจากเรื่องงานก็ได้ เช่น คุณมีเจ้านายที่เข้าใจลูกน้อง คุณมีเพื่อนร่วมงานที่คอยเป็นกำลังใจ ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน หรือแม้แต่วิวด้านนอกที่มองจากโต๊ะทำงานของคุณที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายทุก ครั้งที่มองออกไป ทุกอย่างรอบตัวคุณถ้าคุณมองให้สวยงามมันก็จะสวยงามอย่างใจต้องการ

ที่มา : JobsDB
--------------------------------------------------------------------------- 

คุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้บริหาร



   หากตอนนี้คุณยังเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง ที่มีความมุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จ ก้าวต่อไปที่คาดวาดหวังไว้ คือการได้เลื่อนขั้น เป็นหัวหน้า เป็นผู้จัดการ และเป็นผู้บริหาร ความฝันของคุณจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อคุณลงมือทำเท่านั้น มาดูกันว่า คุณสมบัติของคนที่จะเป็นผู้บริหารนั้นเป็นอย่างไร แล้วกลับมาสำรวจตัวเองว่า มีคุณสมบัติเช่นนั้นแล้วหรือยัง

เป็นคนซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์นั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าความสามารถภายนอกเสียอีก คนที่ก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดมั่นในความซื่อสัตย์ไปตลอด ความซื่อสัตย์ก็จะส่งให้เขาเป็นคนที่น่าเคารพนับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดไป

กระตือรือร้น มีชีวิตชีวาในการทำงาน

ผู้บริหารจะต้องเป็นคนที่มีความกระตือรือร้น ทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง และมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เสมอ เพราะองค์กรไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากมีผู้บริหารที่เฉื่อยชา และทำงานไปวัน ๆ

หนักเอาเบาสู้

คนที่จะเป็นผู้บริหารได้ ต้องพร้อมที่จะรับงานทุกอย่าง โดยไม่เลือกงานหรือเกี่ยงทำแต่เฉพาะที่ตนเองสนใจเท่านั้น เพราะคนเหล่านี้ในระยะยาวแล้วไม่อาจบริหารองค์กร ผู้บริหารที่ดีจึงต้องพร้อมกระโจนเข้าใส่งานทุกประเภทไม่ว่างานนั้นจะยาก หรือง่าย จะหนักหรือเบาก็ตาม ด้วยจิตวิญญาณแล้วต้องสามารถสู้กับทุกปัญหาได้

เรียนรู้ตลอดชีวิต

นิสัยรักการเรียนรู้จะทำให้บุคคลนั้นมีความคิดที่ก้าวหน้า การหมั่นเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ สนใจแนวคิด วิทยาการ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เปิดกว้างที่จะยอมรับฟังผู้อื่น ไม่ยึดติดอยู่กับความคิดตัวเอง คนเช่นนี้จึงจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้

คิดเป็น-ทำเป็นทีมได้

คนที่จะเป็นผู้บริหารจะต้องมีความโดดเด่น เมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น คือมีการแสดงให้เห็นว่าเป็นคนคิดเป็น ไม่ใช่คนที่จะอยู่นิ่ง ๆ รอรับคำสั่ง แต่จะมีการเสนอความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ เสนอแนวทางแก้ปัญหาอยู่ตลอด นอกจากคิดเป็นแล้ว ยังจะต้องทำงานเป็นด้วย โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น สามารถทำงานเป็นทีมได้

คิดแง่บวก

คนที่มีความคิดในแง่ลบจะนำความล่มจมมาสู่องค์กร ด้วยความที่คิดว่า "ทำไม่ได้" จึงไม่เกิดความพยายามที่จะ "ทำให้ได้" ถึงแม้จะยังไม่ได้ลงมือทำ แต่ก็ถือว่าล้มเหลวเสียแล้ว คนที่จะเป็นผู้บริหารจะต้องคิดเสมอว่า "ทำได้" และพยายามหาวิถีทางว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ แล้วลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น ความคิดบวกนี้เองที่ส่งผลให้เขาไปสู่ความสำเร็จ

ยินดีเสียสละ

ผู้บริหารต้องเป็นคนที่ยินดีเสียสละความรู้ความสามารถ และอุทิศตนให้กับองค์กรด้วยความเต็มใจและไม่ย่อท้อ รวมทั้งยินดีถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปช่วยกันนำมาองค์กรไปสู่ความเจริญก้าวหน้าด้วย
ตำแหน่งผู้บริหารถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำพาองค์กรสู่ ระดับแนวหน้า หรือว่าจะล้าหลังถอยหลังลงคลอง ดังนั้นการจะได้เป็นผู้บริหารนั้นจึงต้องมีคัดสรรอย่างเข้มข้น เรียกได้ว่าคั้นเอาแต่หัวกะทิจริง ๆ คุณสมบัติตามที่ได้กล่าวมาทั้ง 7 ข้อนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้คุณสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารที่ดีในอนาคตได้ อย่างแน่นอน

ที่มา : JobsDB
--------------------------------------------------------------------

ให้ความคิดกำหนดเส้นทางความสำเร็จของชีวิตคุณ


ในบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จแถวหน้า ไม่มีใครที่ได้มาง่าย ๆ หรือได้มาได้มาแบบฟลุค ๆ เพราะนั่นไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง คนที่ได้อะไรมาง่าย ๆ มักจะไม่รู้จักรักษาสิ่งเหล่านั้นให้อยู่กับตนอย่างยาวนาน เหมือนกับคนที่ถูกหวย ที่คิดว่าเดี๋ยวก็ถูกอีก จึงไม่คิดที่จะใช้จ่ายอย่างประหยัด หรือเก็บออมไว้ใช้ในอนาคต สุดท้ายเงินมากมายที่ได้มาก็หมดไป ในทางกลับกัน คนที่ฝ่าฟันอุปสรรคมาอย่างยากลำบาก จะเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในความสำเร็จของตน คนเหล่านี้รู้จักที่จะรักษาความสำเร็จนั้นให้อยู่กับตนตลอดไป ความคิดที่แตกต่างกันเช่นนี้เองจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงลักษณะของคนที่จะ ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

แล้วคนที่เขาประสบความสำเร็จเขาต้องคิดกันอย่างไร???

คำตอบอยู่ตรงนี้แล้ว...
  1. กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ทุกคน ควรมีเป้าหมายระยะยาวกำหนดไว้เป็นธงของตนเอง และมุ่งมั่น ฝ่าฝันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อคว้าธงนั้นให้จงได้ การมีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจนหรือแรงปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จจะช่วยทำ ให้คุณมองข้ามอุปสรรคที่พบเจอระหว่างทาง มองความผิดพลาดและความล้มเหลวเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของคุณ
  2. คิดก่อนพูด ในการทำงานร่วมกับ ผู้อื่นนั้น การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ ควรคิดให้รอบคอบก่อนที่จะพูดออกไป ควรรู้ว่าจะพูดกับใคร พูดเกี่ยวกับอะไร พูดอย่างไร พูดเมื่อไร และพูดที่ไหน เพื่อให้สิ่งที่เราพูดนั้นเหมาะสมที่สุด หรือแม้แต่ในเวลาที่เกิดอารมณ์โมโห ไม่พอใจเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน คุณจะต้องควบคุมสติให้มั่น อย่าพูดเพียงเพราะอารมณ์พาไป และเมื่อพูดไปแล้วต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของคุณด้วย
  3. ยึดมั่นในคุณธรรม เป็นคนเก่ง แล้วต้องเป็นคนดี มีจุดยืนในการทำงาน อย่าให้ผลประโยชน์ในระยะสั้นมาทำให้คุณหวั่นไหว และเผลอไผลออกไปจากเป้าหมายระยะยาวที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ตัดสินใจบางอย่างผิดพลาด และต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง การรู้ผิดรู้ชอบ รู้จักยับยั้งชั่งใจ และกล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะขึ้นไปปกครองคน คนที่มีคุณธรรมเท่านั้นจึงจะปกครองคนได้อย่างยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับ นับถือแก่บุคคลทั่วไปและผู้ใต้บังคับบัญชา
  4. ล้มแล้วลุกเพื่อสู้ต่อ เส้นทางสู่ความสำเร็จย่อมมีอุปสรรคคอยบั่นทอนกำลังใจของเรา แต่หากเรามองความผิดพลาดในทุก ๆ ครั้ง คือพลังคูณสองให้เราลุกขึ้นเผชิญกับมัน เปลี่ยนความกลัวให้เป็นความท้าทาย รู้สึกตื่นเต้นกับอุปสรรคใหม่ ๆ ที่จะต้องพบเจอ สนุกกับการเอาหาทางชนะมันให้ได้ แต่อย่ามุ่งเอาชนะจน "แพ้ไม่เป็น" เพราะมันจะทำให้คุณไม่มีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง
  5. คิดบวกเสมอ คนที่คิดกลัวไปก่อนว่ามันยาก มันยิ่งใหญ่เกินไปที่จะทำให้สำเร็จก็จะพบแต่ความพ่ายแพ้เท่านั้น แต่หากคุณเปลี่ยนมุมมอง มองว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ไม่มีอะไรเกินความพยายามของคุณ ถ้าคนอื่นทำได้ คุณก็ทำได้เช่นกัน หมั่นให้กำลังใจตนเองด้วยการคิดบวกเสมอ แล้วคุณจะพบกับความสำเร็จในที่สุด
ที่มา : JobsDB

หนทางสู่ความสำเร็จ


เราทุกคนต่างมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว โดยนิยาม ความสำเร็จของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป เช่น บางคนตั้งเป้าหมายในการทำงานให้ก้าวหน้ามากที่สุด บางคนตั้งเป้าหมายในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น บางคนตั้งเป้าหมายในการมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น หรือ บางคน ตั้งเป้าหมายที่จะสำเร็จในทุก ๆ เรื่องที่ตนเองทำ แล้วอะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จตามที่เรามุ่งหวัง


ความสำเร็จเกิดขึ้นได้จาก ความพร้อม บวก โอกาส หมายความว่า การที่เราจะสำเร็จได้ในสิ่งที่เรา มุ่งหวัง เราต้องเตรียมความพร้อมในตัวของเราเอง และต้องประกอบกับการได้รับโอกาสที่ดีด้วย ทีนี้มาดูในรายละเอียดกันดีกว่าว่าเราต้องเตรียมความพร้อมและหาโอกาสกัน อย่างไร
ความพร้อม เราต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องความรู้ ทักษะ ความสามารถ โดยใน แต่ละวันที่ผ่านไป เราควรคิดเสมอว่า เราได้รับความรู้ ทักษะ และมีความสามารถอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง หากในแต่ละวันที่ผ่านไปเราไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นเลย ก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน และคนอื่น ๆ ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
หากเราไม่พัฒนาอะไรเพิ่มขึ้น ก็เหมือนกับว่าเราถอยหลังลงทุกวัน
ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมของตนเองโดยการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยหลักของการพัฒนาคือ การกำหนดเป้าหมายที่เราต้องการไปถึงอย่างชัดเจน และพิจารณาว่าอะไรที่จะทำให้เรามุ่งสู่เป้าหมายนั้นได้ จากนั้นก็พัฒนาปรับปรุง ให้ตนเองมีความรู้ ความสามารถในเรื่องนั้น ๆ เพื่อความพร้อมที่จะก้าวขึ้นไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
โอกาส บางครั้งเรามักคิดว่า ตัวเราเองก็มีความเก่ง แต่เราไม่มีโอกาสจึงทำให้สู้เพื่อนไม่ได้ ซึ่งหากเราคิดแบบนั้น แสดงว่าเราเป็นคนที่คอยโอกาส ซึ่งจริง ๆ แล้วคนเก่งจะไม่เป็นฝ่ายรอคอยโอกาส แต่เขาจะเป็น ผู้สร้างโอกาสขึ้นมาเอง สร้างจนกระทั่งมีโอกาสมากมายให้เขาเลือก
และเขาจะเป็นผู้บริหารโอกาสนั้นเอง เช่น กรณีที่เราต้องการที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน เราจะไม่นั่งรอว่าเมื่อไหร่หัวหน้าจะมอบหมายงานสำคัญให้เราทำสักที เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสแสดงฝีมือบ้าง แต่เราจะเป็นผู้เสนอตัวขอรับทำงานที่สำคัญเอง และทำงานนั้นอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้หัวหน้าเห็นฝีมือของเรา
ดังนั้น หากเราอยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต เราคงต้องลุกขึ้นมาสร้างความพร้อมโดยการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และสร้างโอกาสขึ้นมาเอง เพื่อให้เรามีโอกาสที่มากมาย จนเราต้องเป็นฝ่ายเลือกใช้โอกาสที่ดีที่สุดสำหรับเรา ถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ชัดแล้วว่า การที่เราจะสำเร็จตามที่เรามุ่งหวังนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "คนอื่น" เลย แต่ขึ้นอยู่กับ "ตัวเรา" ทั้ง สิ้น ตัวเราที่จะสามารถกำหนดระดับความสำเร็จของเราได้เอง ตัวเราที่ไม่ใช่แค่คิดอยากจะสำเร็จ แต่เป็นตัวเราที่คิดและลงมือทำเพื่อความสำเร็จ

ที่มา : ประสิทธิ์ องอาจตระกูล ผู้บริหารงานสรรหาพนักงาน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย

5 ทักษะของคนทำงานมืออาชีพ


การแข่งขันในโลกธุรกิจนั้น ยิ่งอยู่ในองค์กรใหญ่การแข่งขันยิ่งสูงมากขึ้น ใครที่อยากได้งานดีในบริษัทชื่อดังต้องขวนขวายให้มาก หมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน ใครเตรียมตัวมาดีมีพื้นฐานแน่นย่อมได้เปรียบ มีโอกาสได้งานสูง และเมื่อได้เข้าทำงานแล้วก็ยังคงต้องแข่งขันเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพราะหากใครเชื่องช้า คงหาโอกาสก้าวหน้าได้ยาก

ทักษะที่จำเป็นต่อการแข่งขันของคนทำงานใน ปัจจุบันได้แก่ ทักษะในการฟัง ทักษะในการการเขียน ทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ ทักษะในการจัดการปัญหา และทักษะในการจัดการกับเวลา เพราะฉะนั้นผู้หางานจึงควรเตรียมตัวให้พร้อม ฝึกฝนและพัฒนาทักษะทั้งหลายเหล่านี้ให้มีพร้อมอยู่ในตัว เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้อย่างมั่นใจ

1. ฟังให้เข้าใจ

ทักษะในการฟังที่ดีจะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้คุณทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ฟังหัวหน้าสั่งงานเข้าใจ คุยกับเพื่อนร่วมงานรู้เรื่อง คุยกับลูกค้าราบรื่น เมื่อฟังเข้าใจก็สามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งสามารถคิดแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ทักษะนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานเป็นทีมเวิร์กที่คนในทีมจะต้องฟัง กันให้เข้าใจในวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และวิธีการทำงานของทีม สมาชิกในทีมจึงจะสามารถทำงานประสานกันได้อย่างราบรื่นลงตัว

2. เขียนให้ชัดเจน

ไม่ว่างานของคุณกำหนดให้คุณต้องใช้ทักษะการเขียนในรูปแบบใด เพียงจดบันทึกข้อความสั้น ๆ หรือการเขียนรายงานเต็มรูปแบบ หัวใจของการเขียนก็คือการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ สามารถส่งสารไปยังผู้รับหรือผู้อ่านได้อย่างครบถ้วนชัดเจน ก่อนจะเขียนจึงควรจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่าง ๆ ที่คุณต้องการจะบอก เรื่องไหนสำคัญและเร่งด่วนให้เอาขึ้นก่อน อีกทั้งยังต้องรู้จักการสรุปใจความสำคัญ รวมถึงการแจกแจงอธิบายรายละเอียดปลีกย่อยในประเด็นต่าง ๆ เป็นข้อ ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ได้รับง่ายขึ้น

3. เทคโนโลยีอย่าให้ล้าหลัง

เดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์พื้นฐานอาจไม่เพียงพอ Microsoft Office อย่างเช่น Word, Excel, PowerPoint, Outlook แบบงู ๆ ปลา ๆ ไม่ช่วยให้คุณสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ ต้องรู้จักลูกเล่นใหม่ ๆ หรือการใช้งานในระดับที่สูงขึ้น รู้ลึกขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณทำงานได้สะดวกรวดเร็วและเป็นมืออาชีพ
นอกจากนี้การรู้ลึกซึ้งในโปรแกรมเฉพาะของแต่ละสายงานก็จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำงานในสายงานนั้น ๆ ด้วย
ในโลกออนไลน์ก็มีหลายโปรแกรมที่จำเป็นต้องเรียนรู้ อินเทอร์เน็ตจำเป็นมากต่อการค้นหาข้อมูลอย่างฉับไว ทันใจทันความต้องการ เพราะข้อมูลมากมายอยู่เพียงปลายนิ้วคลิกเท่านั้น นอกจากนี้การรับ-ส่งอีเมล รวมถึงการจัดระเบียบอีเมลก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องสามารถใช้งานได้เป็น อย่างดี

4. จัดการกับปัญหาได้

เมื่อถึงช่วงเวลาคับขันที่ต้องตัดสินใจจัดการกับปัญหา คนที่สามารถประเมินสถานการณ์หรือเข้าใจปัญหาได้เร็ว ไหวตัวเร็ว คิดแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาดและทันท่วงที จะเป็นผู้ที่โดดเด่นออกมาจากคนอื่น ๆ ดังคำกล่าวที่ว่า "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" หากคุณฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาอยู่ตลอด คุณก็จะเป็นคนคิดไว ถี่ถ้วน รอบด้าน และสามารถคิดแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที และอาจได้เป็นวีรบุรุษในสถานการณ์หนึ่งก็ได้

5. จัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม

เมื่อคุณต้องทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน การจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมจะทำให้คุณผ่านพ้นช่วงวุ่น ๆ ที่รู้สึกว่างานล้นมือได้อย่างไม่ยากเย็นนัก การจัดสรรเวลาทำได้โดยการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำ อันไหนควรทำก่อน อันไหนรอได้ หรืออันไหนสามารถมอบหมายให้คนอื่นทำได้ จัดระเบียบโต๊ะทำงานให้สามารถหยิบจับเอกสารที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
จะช่วยให้คุณไม่เสียเวลาไปกับการค้นหาเอกสารเพียงแผ่นเดียวจากกองเอกสารมากมายบนโต๊ะทำงาน
ที่สำคัญที่สุดคือการมีงานส่งตรงเวลา อีกทั้งยังมีเวลาเหลือสำหรับการตรวจทานและแก้ไขข้อผิดพลาดก่อนส่งงานอีกด้วย
คนทำงานมืออาชีพต้องไม่หยุดเรียนรู้ พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรยากเกินไป ถ้าตั้งใจฝึกฝน ทักษะเหล่านี้จะติดตัวคุณไป ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหนก็สามารถแข่งขันกับคนอื่น ๆ ได้เสมอ

ที่มา :JobsDB

เจรจาอย่างไรให้ win win



     ในการทำงานหรือการดำเนินชีวิตของเรา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเจรจาต่อรอง ทั้งเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรื่องการเจรจาต่อรองในเชิงธุรกิจ หรือ เรื่องใกล้ตัว เช่น การเจรจากับเพื่อน กับแฟน หรือคู่ชีวิต เป็นต้น ซึ่งการเจรจาต่อรองให้ได้ผล ก็มีหลักที่ดีที่น่าสนใจเช่นกัน กล่าวคือหากเกิดประเด็นที่จะต้องมีการพูดคุยกันแล้ว ก่อนอื่นเราต้องทำให้คู่เจรจาเห็นก่อนว่า
“หากเจรจาแล้วเขาจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าการไม่เจรจา”

เนื่องจากหากเขาเห็นว่าอยู่เฉยๆไม่เจรจาแล้วเขาจะได้รับผลประโยชน์มากกว่า การเจรจาก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน
คราวนี้เมื่อรู้ว่าจะต้องมีการเจรจาต่อรองกันแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ
การเตรียมข้อมูล เพราะ การเตรียมข้อมูลจะทำให้เราเกิดความมั่นใจในการเจรจา โดยข้อมูลที่ต้องเตรียมจะต้องเป็นข้อมูลในส่วนของเรา ส่วนของคู่เจรจา และข้อมูลในเรื่องที่จะเจรจากัน
ลำดับต่อไปเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องค้นหาให้ได้ว่า
จริง ๆ แล้วคู่เจรจาต้องการอะไร เพราะการเจรจาส่วนใหญ่ที่ประสบความล้มเหลวเนื่องจากคู่เจรจาต่างยืนหยัดใน สิ่งที่ตนเองเปิดเผยออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการที่แท้จริงก็ได้ เช่น หัวหน้าบอกให้ลูกน้องมาทำงานในวันเสาร์ ส่วนลูกน้องบอกว่ามาไม่ได้ หากทั้งคู่ต่างยืนหยัดในสิ่งที่พูดออกมา การเจรจาก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ แต่หากทั้งคู่พยายาม พูดคุยหาความต้องการที่แท้จริงของแต่ละฝ่ายให้ได้ เช่น สาเหตุที่หัวหน้าอยากให้ลูกน้องมาทำงานในวันเสาร์ เพราะมีงานค้างเป็นจำนวนมาก ส่วนลูกน้องที่บอกว่าจะไม่มาในวันเสาร์เพราะต้องไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ในวันหยุด หากทั้งคู่ทราบความต้องการที่แท้จริงของทั้ง 2 ฝ่ายแบบนี้แล้ว การเจรจาจะสามารถจบลงได้โดย ลูกน้องจะทำงานต่อเนื่องให้ในวันศุกร์เย็น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้งานที่ค้างก็จะเสร็จ และลูกน้องก็ได้ไปเรียนหนังสือ ซึ่งบรรลุความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “win win situation”
นอกจากนี้ การเจรจายังต้อง
ห้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่พยายามเอาชนะคะคานกัน ไม่ทำให้อีกฝ่าย รู้สึกเสียหน้า เสียเปรียบ หรือรู้สึกเป็นผู้แพ้ในการเจรจา ซึ่งหากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นแล้ว การเจรจาก็จะล้มเหลว เพราะทั้งคู่จะละเลยเรื่องเหตุผล โดยไปคำนึงถึงเรื่องศักดิ์ศรีแทน
หากมีประเด็นที่จำเป็นต้องมีการพูดคุยกัน ต้องพยายามทำให้อีกฝ่ายเห็นประโยชน์ของการเจรจา จากนั้นเราก็เตรียมข้อมูล และที่สำคัญต้องค้นหาความต้องการที่แท้จริงของทั้ง 2 ฝ่ายให้ได้ และเจรจาโดยพยายามให้บรรลุความต้องการที่แท้จริงของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งให้เกียรติซึ่งกันและกัน
“เพียงแค่นี้การเจรจาของเราก็จะเป็นไปอย่างราบลื่น เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย”

ที่มา : ประสิทธิ์ องอาจตระกูล ผู้บริหารงานสรรหาพนักงาน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย


คนเก่ง" ทำไมจึงเก่ง???



     คนจะเก่งหรือไม่เก่งนั้น อยู่ที่ "ทัศนคติ" ของแต่ละคน เวลาเจอโจทย์อะไรสักอย่าง บางคนบอกตัวเองว่าเราไม่เก่ง ทำไม่ได้หรอก มองไปก็เจอแต่ปัญหา อย่างนี้เรียกว่า "ปิดประตูความสำเร็จ" ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น
แต่คนเก่ง จะมีลักษณะบางอย่าง ที่แตกต่างจากคนไม่เก่ง ไม่ใช่ว่าเพราะเก่งเลยทำได้ เพราะไม่เก่งเลยทำไม่ได้
แต่มันคือ "ทัศนคติ" ที่แตกต่างกัน

ที่ญี่ปุ่นมีชั่วโมงเรียนวิ่งมาราธอน เด็ก นักเรียนต้องวิ่งทางไกลระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร พวกที่เป็นนักกีฬา หรือเล่นกีฬาอยู่เป็นประจำ จะวิ่งได้ไม่เหนื่อย ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นแบบวิ่งสั้น ๆ ได้ แต่ไกล ๆ ไม่ไหว กับอีกกลุ่มสุดท้าย คือ พวกวิ่งเหยาะ ๆ ให้มันหมดชั่วโมงไปด้วยความเบื่อหน่าย หากเปรียบเทียบกับการทำงานจะพบว่าในทุกองค์กรจะมีคนทั้ง 3 กุล่มอยู่ร่วมกัน ถึงแม้จะพยายามคัดแต่หัวกะทิมาแล้วก็ตาม ในกลุ่มคนเก่งด้วยกัน ก็ยังสามารถแบ่งได้อีก 3 กลุ่ม คือ
  • กลุ่มคนที่เก่ง มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ
  • กลุ่มคนที่มีความสามารถปานกลาง ให้ทำก็ทำ และทำเท่าที่ทำได้
  • กลุ่มคนที่เป็นพวกอิดออด ไม่ยอมทำ และคิดว่าตัวเองทำไม่ได้
หากลองตั้งคำถามว่า คนเก่งทำไมถึงขยัน และคนไม่เก่งทำไมถึงอิดออด
เพราะคนเก่งหรือคนที่มีศักยภาพสูง จะมีความรู้สึกโดยธรรมชาติต่อสิ่งต่าง ๆ ว่า "น่าจะทำได้" ความรู้สึกเช่นนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดความมุมานะ อยากลองทำ คนที่รู้สึกว่าทำได้จึงมีความพยายามมากกว่าคนที่ไม่มีความรู้สึกนี้
ส่วนคนที่ไม่เก่ง เป็นเพราะบอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เก่ง จึงไม่เกิดแรงผลักดันให้มุมานะ หรือพยายามทำให้สำเร็จ
เมื่อไรก็ตามที่คนไม่เก่งเปลี่ยนความคิด ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างจากชั่วโมงวิ่งมาราธอนของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น มีอยู่วันหนึ่ง เด็กที่เกลียดชั่วโมงวิ่งมาราธอนเป็นชีวิตจิตใจ
ตื่นเช้าขึ้นมาและพบว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไป ตัวสูงใหญ่ ขายาวขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงเป็นมัด ๆ
วันนั้นเขาบอกกับตัวเองว่า "คอยดู ฉันจะวิ่งมาราธอนให้แหลกเลย รับรองเพื่อน ๆ ต้องตกใจแน่"
แต่เมื่อเขาออกวิ่ง… เสียงนาฬิกาปลุกก็ดังขึ้น
ถึงแม้ว่ามันเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่มันก็ทำให้เขาก็เกิดแรงขับบางอย่าง ที่อยากจะทำให้มันเป็นความจริงให้ได้
เขาเริ่มเปลี่ยนความคิด เชื่อมั่นว่าเขาทำได้ ตั้งแต่นั้นมาเขาก็วิ่งได้ระยะทางไกลขึ้น แข็งแรงขึ้น และไม่เหนื่อยง่าย จนเพื่อน ๆ แปลกใจ
เมื่อคนเราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้สำเร็จ ความมั่นใจก็จะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงขับให้เกิดความมุมานะทำสิ่งอื่น ๆ ให้สำเร็จอีกต่อ ๆ ไป
เพราะเหตุนี้เอง จึงดูเหมือนว่า "คนเก่ง" ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่าง
เห็นไหมว่า ความคิดของเราเอง ที่เป็นตัวกำหนดให้เรา "แพ้" หรือ "ชนะ"
เพียงคิดว่า "น่าจะทำได้" หรือ "ไม่น่าจะทำได้" ก็เป็นตัวกำหนดการกระทำที่แตกต่างของเราแล้ว
ความรู้สึกว่า "น่าจะทำได้" นี่แหละที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง "คนเก่ง" และ "คนไม่เก่ง"

ที่มา : JobsDB

วิธีพรีเซนต์ตัวเองในการสัมภาษณ์งาน



     พนักงานขาย ที่ดีไม่ใช่คนที่กดดันคุณจนคุณต้องยอมซื้อสินค้านั้นในที่สุด แต่เป็นคนที่พยายามทำความเข้าใจกับความต้องการของคุณ และอธิบายให้คุณเห็นถึงคุณสมบัติของสินค้าที่ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของ คุณ พวกเขาไม่ใช่คนที่ต้องการเงินจากคุณ แต่เป็นคนที่จะให้ความพึงพอใจกับคุณต่างหาก
ในการสมัครงานก็เช่นกัน เมื่อสิ่งที่ต้องการจะขายนั้นคือ ตัวของคุณเอง

กระบวนการสัมภาษณ์งานก็เป็นการขายประเภทหนึ่ง ถ้าคุณไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี คุณก็ไม่สามารถทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงคุณสมบัติและข้อดีที่คุณมีได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณไม่สามารถจูงใจให้เขา "ซื้อ" สินค้าที่คุณนำเสนอได้ ผู้สมัครงานจำนวนมากไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการพรีเซนต์ตัวเองมากพอ ถึงแม้ว่าการเขียนเรซูเม่ของเขาจะดูน่าสนใจ และแม้ว่าเขาแต่งกายดูดีน่าประทับใจ แต่ถ้าเขาไม่สามารถโน้มน้าวผู้สัมภาษณ์ให้เชื่อว่าเขาคือคนที่เหมาะสมกับ ตำแหน่งงานนั้นมากที่สุดแล้วล่ะก็ เขาก็ไม่สามารถปิดการขายได้
ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณที่ต้องเตรียม ได้แก่ ประวัติการทำงาน ทั้งงานเต็มเวลา งานล่วงเวลา และงานที่ทำในช่วงปิดเทอม ประวัติการทำงานอาสาสมัครหลังเลิกงานหรือในเวลาว่าง ประวัติการศึกษา ประวัติการทำกิจกรรม ประวัติการรับรางวัลต่าง ๆ ประวัติการเกณฑ์ทหารในกรณีที่คุณเป็นผู้ชาย ความสามารถทางภาษา และความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์
เมื่อคุณเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองพร้อมแล้ว สิ่งต่อไปที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการทราบก็คือ ทัศนคติของคุณ โดยคุณต้องเตรียมตัวสำหรับการตอบคำถามต่อไปนี้ด้วย
  1. ความสำเร็จใดที่คุณภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร
  2. เคยทำสิ่งผิดพลาดหรือไม่ เกิดอะไรขึ้น และคุณได้เรียนรู้อะไรจากบทเรียนครั้งนั้น
  3. คุณมีปฏิกิริยาต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่าคุณอย่างไร ในที่นี้รวมถึง เจ้านาย ครูอาจารย์ และพ่อแม่ของคุณด้วย
  4. กีฬาที่คุณชื่นชอบคืออะไร ทำไมคุณถึงชอบกีฬาชนิดนั้น คำตอบของคุณจะสะท้อนความเป็นตัวคุณออกมาว่าคุณเป็นคนที่ชอบเอาชนะ หรือเป็นคนที่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ คุณเป็นผู้แพ้ที่ดี หรือเป็นผู้ชนะที่แย่
  5. เพื่อน ๆ ของคุณเป็นคนแบบไหน คุณคบเฉพาะเพื่อนที่มีนิสัยคล้ายกับคุณหรือว่า คุณชอบคบกับคนหลาย ๆ แบบ มีอะไรบ้างที่สามารถบั่นทอนความสัมพันธ์ของคุณกับเพื่อน หรือสิ่งที่จะทำให้คุณเลิกคบกับเพื่อนได้
  6. ถ้าถามเพื่อนของคุณ หรือคนที่คุ้นเคยกับคุณ ให้บอกถึงความเป็นคุณ พวกเขาจะบอกว่าคุณเป็นคนอย่างไร
คำตอบของคำถามเหล่านี้จะสามารถบ่งบอกความเป็นตัวคุณได้เป็นอย่างดี
ยิ่งคุณรู้จักตัวเองดีเท่าไร คุณจะสามารถนำเสนอจุดเด่นที่ตรงกับความต้องการของผู้สัมภาษณ์ได้มากเท่านั้น ดังนั้น ทำความรู้จักกับตัวเองให้มาก แล้วเตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่ตอบยากเอาไว้ให้พร้อม ลองคิดถึงคำตอบแล้วมองย้อนกลับว่า ถ้าคุณเป็นผู้สัมภาษณ์คุณจะรู้สึกอย่างไรกับคำตอบนั้น เขาจะมองว่าคุณเป็นคนเช่นไร ใช่คนที่เขาต้องการหรือไม่ เพื่อที่คุณจะสามารถพรีเซนต์ตัวเองได้ตรงใจนายจ้างมากที่สุดนั่นเอง

ที่มา : JobsDB

หลุมพรางของความฉลาด จุดผิดพลาดที่สำคัญของคนเก่ง


เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การที่เราจะทำอะไรให้สำเร็จต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งความมั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนต้องมี แต่ควรมีในระดับที่เหมาะสม เพราะหากมีมากเกินไป อาจจะทำให้เราเผลอแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเก่ง คนฉลาด หรือคนที่คิดว่าตัวเองเก่ง หรือฉลาด มักจะมั่นใจในความคิดหรือแนวทางของตนเองโดยไม่ฟังใคร
ในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือชีวิตการทำงาน จะมี
“หลุมพรางของความฉลาด (Intelligence Trap)” อยู่ ทั่วไป ซึ่งเป็นกับดักที่ทำให้คนเก่ง คนฉลาด หรือคนที่คิดว่าตัวเองเก่ง หรือ ฉลาด เผลอตกลงไปในหลุมพรางนี้ ซึ่งเมื่อตกไปแล้วก็จะเป็นผลร้ายต่อตัวเองอย่างยิ่ง

สัญญาณที่บอกว่าเป็นคนที่ตกหลุมพรางความฉลาด เช่น การที่รู้สึกอยากจะแย้งคนอื่นตลอดเวลา สนุกสนาน สะใจที่แย้งได้สำเร็จ จนมีความสุขที่โต้แย้งจนชนะได้, รู้สึกว่าคนอื่นไม่ได้เรื่อง หยามหยัน จนถึงการ ดูหมิ่นความคิดของคนอื่น (แม้แต่หัวหน้า คนพวกนี้ก็จะดูถูกเพราะคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าเสมอ) และคนพวกนี้ จะไม่ค่อยอยากฟังความคิดเห็นของคนอื่น เพราะดูธรรมดาเกินไปสำหรับเขา
การตกหลุมพรางความฉลาด จะทำให้เป็นคนที่ไม่น่ารัก ไม่เป็นมิตร ใครที่คุยด้วยจะรู้สึกว่าถูกข่ม ตัวเองด้อยค่าเหมือนโดนดูถูกตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่ได้พูดข่มออกมาตรง ๆ แต่กริยาก็แสดงออกไป ดังนั้น เราต้องระมัดระวังจิตใจของเราไม่ให้เผลอตกไปในหลุมพรางความฉลาด ต้องคอยเตือนตนเสมอว่า เราต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างตั้งใจ เข้าใจ ไม่ไปตัดสิน หรือคอยโต้แย้งเพื่อจับผิด และแสดงกริยาหรือคำพูดว่าเราเหนือกว่าเขา เราต้องพยายามเข้าใจผู้อื่น นำความคิดที่ดี ๆ ของทุกคนมาประสานให้เกิดพลัง มากกว่าการเอา ความคิดของเราเป็นที่ตั้งและคอยวิจารณ์ความคิดเห็นของผู้อื่น
คนจะเก่ง จะฉลาดได้ ต้องมาจากความมานะพยายาม การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ
การได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง
หากเราตกหลุมพรางของความฉลาดแล้ว เราจะไม่มีทางได้รับการยอมรับได้เลย โดยนับวันเพื่อนหรือคนใกล้ชิดเราจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้น วันนี้เรามาตั้งสติ กำหนดทัศนคติกันให้ดีว่า เราจะไม่ยอมตกหลุมพรางของความฉลาดโดยเด็ดขาด เราจะเป็นคนยอมรับความเก่ง ความดีของคนอื่น โดยจะคิดเสมอว่าคนเราทุกคนต่างมีความเก่ง และความฉลาดอยู่ในตัว ซึ่งอาจจะเก่งหรือฉลาดแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง ดังนั้น เราจะพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เข้าหาผู้อื่นอย่างเข้าใจและจริงใจ เปรียบประดุจ "รวงข้าว" ที่เป็นสัญลักษณ์ของเครือธนาคารกสิกรไทยของเรา ซึ่งมีคนกล่าวไว้ว่า รวงข้าวเมื่อเติบโตและออกเป็นเมล็ดข้าว ก็ยิ่งโน้มต่ำลงสู่ดิน หมายถึงเมื่อเรายิ่งเก่ง ยิ่งฉลาด ยิ่งเติบโตไปเท่าใด เรายิ่งตัองรับฟัง เข้าใจ และ เห็นใจผู้อื่น มากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น

ที่มา : ประสิทธิ์ องอาจตระกูล ผู้บริหารงานสรรหาพนักงาน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย

วิธีสร้างความสุข และสนุกกับงาน



     เพื่อนพนักงานเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เรามีความสุขกับงานที่ทำอยู่หรือไม่ หากเราเริ่มรู้สึกว่าเกลียดวันจันทร์ ไม่อยากลุกจากเตียงมาทำงาน หรือ เดินเข้าที่ทำงานแล้วปวดหัวทุกที นั่นเป็นอาการที่เราเริ่มไม่มีความสุขกับการทำงานแล้ว ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะโดยปกติแล้วเราต้องใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 7-8 ชั่วโมงต่อวัน แถมบางคนอยู่มากกว่านั้นอีก หากไม่มีความสุขก็แย่เลย

แนะนำเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการสร้างความสุข และสนุกกับงานที่ทำ


สิ่งแรกคือเรื่องของจิตใจ เราต้อง "รักในงานที่ทำ" จริงอยู่ทุกคนอยากได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองรัก แต่บางครั้งด้วยปัจจัยต่าง ๆ อาจทำให้เรายังไม่ได้ทำในสิ่งนั้น ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ รักในสิ่งที่ตนเองทำ โดยการมองเห็นคุณค่าของงานที่เราทำอยู่ ภาคภูมิใจที่ได้ทำงาน และมุ่งมั่นตั้งใจในสิ่งที่ตนเองทำให้ดีที่สุด
หลังจากเราเริ่มรักในงานที่เราทำแล้ว ลำดับต่อไปเราคงต้องทำงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยการ "ตั้งเป้าหมายในการทำงานของตนเอง" การตั้งเป้าหมายทำให้เรามีความหวัง สร้างความมุ่งมั่นให้เรา โดยขอให้แตกเป็นเป้าหมายย่อย เพื่อให้เห็นผลสำเร็จได้เร็ว และเมื่อสำเร็จแล้วเราก็ให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ตัวเองด้วย โดยอาจจะเป็นคำพูดก็ได้ว่า "เราก็เก่งเหมือนกันที่ทำเรื่องนี้สำเร็จ" หรือ ซื้อของขวัญที่มีมูลค่าไม่มากนักให้แก่ ตัวเอง
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ให้ถือเรื่องการตั้งเป้าหมาย
เปรียบประดุจการเดินทาง คือ ขอให้มีความสนุก ในทุก ๆ วันของการเดินทาง ไม่ใช่จะต้องรอให้สำเร็จแล้วถึงจะมีความสุขเท่านั้น
สุดท้ายในการทำงานเราต้อง "ไม่คิดเล็กคิดน้อย " เพราะในแต่ละวัน เราต้องพบลูกค้า หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ซึ่งบางครั้งอาจจะมีความไม่เข้าใจกัน หรือ มีคำพูดบางคำพูดที่ทำให้เราไม่สบายใจ ซึ่งเราไม่ควรนำมาคิดเล็กน้อยคิดน้อย เพราะบางครั้งผู้พูดก็ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่เรากลับเก็บนำมาคิด ทำให้เราเกิดความทุกข์หรือความเครียดไปเปล่า ๆ เราต้องไม่ให้คำพูดหรือการกระทำของใครมาทำให้เราเสียใจ เพราะสุขหรือทุกข์เราต้องเป็นผู้กำหนดเองครับ
คนที่ทำงานด้วยความสุข และสนุกกับการทำงาน ถือเป็นคนโชคดีที่สุด
เพราะได้ทั้งผลตอบแทน ฐานะทางสังคม ความก้าวหน้า อีกทั้งได้รับความสุขไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งต่อตัวเราเองครับ

ที่มา : ประสิทธิ์ องอาจตระกูล ผู้บริหารงานสรรหาพนักงาน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย

ผู้สัมภาษณ์งานมองหาอะไรในตัวผู้สมัคร



      ถึงแม้การรับสมัครงานในแต่ละตำแหน่ง จะต้องการผู้สมัครงานที่มีทักษะ และความสามารถ แตกต่างกันไป ตามลักษณะของงาน แต่ทราบหรือไม่ว่า มีบุคลิกลักษณะบางอย่าง ที่ผู้สัมภาษณ์งาน มักจะมองหา ในตัวผู้สมัครงานที่เขาต้องการ ซึ่งไม่ใช่แค่การเป็นคนเก่ง หรือมีความสามารถรอบด้าน
มาดูกันว่าบุคลิกลักษณะที่พึงปรารถนาในการทำงานนั้นมีอะไรบ้าง

ความตรงต่อเวลา

     นายจ้างเริ่มต้นทำความรู้จักกับผู้สมัครงานผ่านประวัติส่วนตัวและการ สัมภาษณ์งาน ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้สมัครงาน จะแสดงให้นายจ้าง เห็นข้อดี คุณสมบัติที่สอดคล้อง ความสามารถ และทักษะของตน แน่นอนว่าทุก ๆ การกระทำ ทุก ๆ คำพูดของผู้สมัครงานกำลังถูกจับตา ความตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงาน ถ้าผู้สมัครไม่อาจบริหารจัดการตัวเอง ให้มาสัมภาษณ์งานตรงเวลานัดหมายได้ เขาจะสามารถทำงานเสร็จตามกำหนด หรือเข้าประชุมตรงเวลาได้อย่างไร หากบริษัทรับพนักงาน ที่ไม่ตรงต่อเวลาเข้ามาทำงาน ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของบริษัท เมื่อคุณมีนัดสัมภาษณ์งาน จงเผื่อเวลาสำหรับรถติด หลงทาง หรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้คุณสามารถไปสัมภาษณ์ได้ก่อนเวลา จะได้มีเวลาพักผ่อน และเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์งาน หากมีความจำเป็นจริง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถไปทันเวลานัดหมาย คุณจะต้องโทรศัพท์ไปแจ้งผู้สัมภาษณ์ว่าคุณขอไปสายกว่าเวลานัด พร้อมอธิบายเหตุผลจำเป็นนั้นด้วย

การเตรียมพร้อม

     ผู้สมัครงานจะต้องเตรียมความพร้อมโดยศึกษารายละเอียดในการทำงาน ประวัติบริษัทมาก่อนล่วงหน้า และใช้ช่วงเวลาสัมภาษณ์ ถามผู้สัมภาษณ์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับรูปแบบในการทำงาน หรือข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท การตั้งคำถามของคุณ จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่า คุณเป็นคนที่ทำการบ้านมาก่อน ผู้สัมภาษณ์จึงมักมองหาผู้สมัครที่เตรียมพร้อมมาจากบ้าน และรู้จักถามคำถามผู้สัมภาษณ์ ไม่ใช่รอให้ผู้สัมภาษณ์เป็นคนถามคำถามแต่ฝ่ายเดียว

การวางตัวเหมาะสม

     ผู้สัมภาษณ์ไม่ต้องการได้ยินเรื่องครอบครัวของคุณ หรือเรื่องส่วนตัวของคุณ หากคุณทำสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพ เช่น ล้วง แคะ แกะ เกา หรือเป็นกันเองกับผู้สัมภาษณ์มากเกินไป จนถูกมองว่าล้ำเส้น การสัมภาษณ์งานครั้งนี้อาจทำให้คุณถูกมองว่า หากรับคุณเข้ามาทำงาน เรื่องส่วนตัวของคุณอาจเข้ามาเบียดบังเรื่องงานของคุณก็เป็นได้ ซึ่งนั้นอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์ตัดสินใจ ไม่รับคุณเข้าทำงาน ดังนั้นจงวางตัวให้เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการกระทำใด ๆ ก็ตาม

การยกตัวอย่างสนับสนุนสิ่งที่พูด

เมื่อคุณถูกถามว่ามีประสบการณ์ในเรื่องนี้ เรื่องนั้น หรือไม่ ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ต้องการให้คุณตอบเพียงมี หรือไม่มีเท่านั้น แต่เขาต้องการให้คุณอธิบายเพิ่มเติมถึงประสบการณ์ดังกล่าวด้วย คุณควรยกตัวอย่างสนับสนุนด้วยว่าคุณได้ทำสิ่งนั้นอย่างไร ประสบความสำเร็จ หรือส่งผลกระทบอย่างไร หากคุณไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ ให้กล่าวถึงประสบการณ์ที่คุณเคยทำ ซึ่งมีความใกล้เคียง หรือสอดคล้องกับประสบการณ์ที่ถูกถาม หรือบอกให้ผู้สัมภาษณ์ ทราบถึงแนวทางที่คุณคิดจะทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์ ดังกล่าว หรือทักษะที่คุณควรมีเพิ่มเติม เพื่อแสดงว่าคุณสนใจงานนี้จริง ๆ

ทัศนคติที่ดีในการทำงาน

     ผู้สัมภาษณ์มองหาผู้สมัครที่มีทัศนคติ การทำงานแบบทีมเวิร์ก และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน คนที่ยินดีทำงาน ที่ไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงของตนได้ เพื่อให้ทีมของตนประสบความสำเร็จกันทั้งทีม มากกว่าคนที่สนใจแต่งานของตัวเอง ไม่สนใจเพื่อนร่วมงาน จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์งานมองหาไม่เกี่ยวกับความเก่ง หรือความไม่เก่ง แต่เป็นตัวตนของคุณ ความคิดของคุณ การแสดงออกของคุณที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม สอดคล้องกับคุณสมบัติที่เขาต้องการหรือไม่ เวลาที่ใช้ในการสัมภาษณ์งานเพียง 1 ชั่วโมง อาจเปลี่ยนชีวิตคุณได้ ดังนั้นจงทำให้ดีที่สุด

ที่มา : JobsDB



Website Hosting