ในทางพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาอาหารก่อนรับประทาน ต้องมีสติ ต้องรู้เท่าทันกิเลศ
โรคอ้วน กำลังคุกคามประชากรโลก จากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีประชากรน้ำหนักตัวสูงกว่ามาตรฐานถึง 50% และกว่า 30% เป็นโรคอ้วน จนถึงประเทศจีนซึ่งเศรษฐกิจเจริญสูงสุดก็มีปัญหาเรื่องโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ปัญหาโรคอ้วนระบาดทั่วโลกจนองค์การอนามัยโลกต้องประชุมเพื่อหาสาเหตุ
โรคอ้วนเดิมเข้าใจว่าเกิดจากความไม่สมดุลของพลังงานจากการรับประทานอาหารมากกว่าพลังงานที่ร่างกายเผาผลาญจึงเหลือสะสมเป็นไขมัน แต่จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันกลับพบว่า โรคอ้วนเป็นปัญหาของพันธุกรรมซึ่งแฝงและแสดงออกเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง พบพันธุกรรมกว่า 25 จุดควบคุมน้ำหนักตัว เป็นขบวนการซับซ้อนหลายขั้นตอน ตั้งแต่การสะสมและการกระจายของเซลล์ไขมัน การสันดาป การตอบสนองของการเผาผลาญพลังงานในภาวะปกติหรือเมื่อออกกำลังกาย ระบบควบคุมปริมาณอาหาร การเลือกชนิดของอาหารที่จะรับประทานและความรู้สึกอิ่ม โดยสมองเป็นศูนย์กลางควบคุม คนอ้วนมีการปรวนแปรของระบบภายในสมองมีสารเคมีหลั่งหลายชนิดผิดปกติ ทำให้การสั่งงานของระบบทางเดินอาหาร ระบบต่อมไร้ท่อและระบบเผาผลาญผิดปกติ เช่น รู้สึกชอบรับประทานอาหารซึ่งมีพลังงานสูงและรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา พฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง กระตุ้นการสร้างอินซูลินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นไกลโคเจนไปเก็บสะสมในตับ กล้ามเนื้อ และบางส่วนเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในเซลล์ไขมันอย่างต่อเนื่อง และพบว่าพลังงานที่สะสมในเซลล์ไขมันจะไม่สามารถนำกลับมาเผาผลาญได้ เมื่อรับประทานเกินกว่าร่างกายเผาผลาญส่วนเกินก็เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไปตลอด จึงพบว่าในผู้สูงวัยซึ่งมีกิจกรรมลดลง มีไขมันบริเวณหน้าท้องเพิ่ม คือ อ้วนลงพุงขึ้นทั้งๆ ที่รับประทานอาหารในปริมาณเท่าเดิม
การรักษาน้ำหนักตัวให้ลดลงมาจึงควรลดอาหารซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงรวดเร็ว เพราะอาหารชนิดดังกล่าวจะกระตุ้นการหลั่งของอินซูลิน ปริมาณอินซูลินที่สูงจะควบคุมให้ระดับน้ำตาลลดลงต่ำอย่างรวดเร็ว ทำให้หิวง่ายต้องรับประทานบ่อยครั้ง จึงมีทฤษฎีให้รับประทานอาหารชนิดเพิ่มน้ำตาลแบบค่อยเป็นค่อยไป (low glycemic index diet) เช่น ผัก ผลไม้และเมล็ดธัญพืช เพื่อให้รู้สึกอิ่มนานๆ แต่ในทางปฏิบัติคงจะยาก จนกว่าเราจะเข้าใจว่ารับประทานเพื่อระงับความหิว ไม่ควรรับประทานเพื่อระงับความอยาก หรือเพื่อความสนุกสนาน การระงับกิเลศฝืนความอยากรับประทาน ที่ถูกยั่วยวนทางตา หู กลิ่น รส จากสื่อต่างๆ จึงเป็นเรื่องทำได้ยาก ในขณะที่เมืองไทยก็อุดมไปด้วยสารพัดอาหารแสนอร่อยทุกซอกซอยให้ลิ้มลอง ดังนั้นคุณจะต้องมีสติไตร่ตรองเท่านั้นจึงจะสามารถระงับความอยากรับประทานได้
ส่วนการควบคุมน้ำหนักโดยการออกกำลังกายก็เป็นเรื่องยากในคนอ้วน เพราะการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมันที่สะสมแล้วจะต้องออกกำลังแบบออกแรงมาก (moderate-intensity activity) เช่น การเต้นแอโรบิค 1 ชั่วโมง/วัน จะทำให้เหนื่อยมาก เกิดปัญหาข้อเสื่อมจากข้อต้องรับน้ำหนักตัว และการเสียดสีของผิวก็ทำให้ผิวหนังอักเสบ คนอ้วนจึงไม่ชอบออกกำลังกาย ส่วนการออกกำลังกายแบบเบา (light intensity activity) เช่น การเดินหรือการว่ายน้ำต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง การออกกำลังกายของคนอ้วนจึงกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ดังนั้นการออกกำลังกายของคนอ้วนจะไม่มีประโยชน์ในด้านลดน้ำหนัก แต่การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
การออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคอ้วนก็เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเป็นธุรกิจที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ศูนย์ออกกำลังกายลดน้ำหนักผุดขึ้นทุกศูนย์การค้า และทุกตึกสูงเพื่อให้ผู้ที่ชอบตามใจปากได้เผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกทั้งๆ ที่ใครๆ ก็ทราบดีว่าการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง คือการรับประทานให้พอดี
ในทางพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าได้หาทางแก้ไขไว้เรียบร้อยมานานกว่า 2500 ปีแล้ว คือการสอนให้พิจารณาอาหารก่อนรับประทาน ต้องมีสติ ต้องรู้เท่าทันกิเลศ การเจริญสติในพระพุทธศาสนาก็เพื่อให้เกิดปัญญา เกิดพุทธะภายในใจ ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิตอย่างถูกต้อง การพิจารณาอาหารเป็นการเจริญสติรับรู้กับอิริยาบถในขณะรับประทานอาหาร รับประทานอาหารเพียงเพื่อให้มีพลังงานสำหรับปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และการรับประทานอาหารหนักมื้อเพล(มื้อเที่ยง) รับประทานน้อยในมื้อเย็น ช่วยให้ไม่มีพลังงานเหลือขณะพักผ่อนในเวลากลางคืน ในขณะขบเคี้ยวก็ต้องกำหนดรู้ชนิดอาหารจึงรับประทานช้าลง ช่วยให้ระดับน้ำตาลไม่พุ่งสูงเร็ว การหลั่งอินซูลินจะช้าทำให้ไม่หิวบ่อย การมีสติจะทำให้เกิดความยับยั้งที่จะรับประทานตามความอยาก เกิดปัญญาหยั่งทราบว่าถ้าทำตามความอยากก็จะเกิดปัญหาสุขภาพคือแก่เร็ว เจ็บป่วยตามมา
บทสวดพิจารณาอาหาร (แปล)
ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาทัง ปะฏิเสวามิ เรายอมพิจารณาโดยแยบคาย แล้วฉันบิณฑบาต
เนวะ ทวายะ ไม่ให้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน
นะ มะทายะ ไม่ให้เป็นไปเพื่อความเมามัน เกิดกำลังพลังทางกาย
นะ มัณฑะนายะ ไม่ให้เป็นไปเพื่อประดับ
นะ วิภูสะนายะ ไม่ให้เป็นไปเพื่อตกแต่ง
ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา แต่ให้เป็นเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้
ยาปะนายะ เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ
วิหิงสุปะระติยา เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย
พรัหมะจะริยานุคคะหายะ เพื่ออนุเคราะห์แห่งการประพฤติพรหมจรรย์
อิติ ปุรานัญจะ เวทะนัง ปะฏิหังขามิ ด้วยการทำอย่างนี้ เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่า คือความหิว
นะวัญจะเวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ และไม่ทำทุกเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น
ยาตรา จะ เม ภะวิสสะติ อะนะวัชชะตา จะ ผาสุวิหาโร จาติ อนึ่ง ความเป็นไปโดยสะดวกแห่งอัตภาพนี้ด้วยความเป็นผู้หาโทษมิได้ด้วย และความเป็นอยู่โดยผาสุกด้วยจักมีแก่เรา ดังนี้
โดยสรุปการรับประทานแบบพุทธะ คือ มีสติกับการรับประทานอาหาร ดังนี้
จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า การเจริญสติ ทำให้การทำงานของสมองด้านขวาเด่นชัดขึ้น ซึ่งอาจมีผลทำให้ระบบการควบคุมในสมองกลับสภาพปกติ ดังนั้นการฝึกสติโดยสวดบทพิจารณาอาหารอย่างเข้าใจความหมายก่อนรับประทานอาหารจะมีอานิสงค์จะช่วยควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคอ้วนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ
ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
สวัสดีค่ะ