I  want  to  have  many  friends.

แสงธรรมส่องทาง




อาตมาในนามพระเทพเจติยาจารย์ ฉายา สิรินฺธโร  ชื่อเดิม  วิริยังค์  สกุล  บุญฑีย์กุล ประชาชนส่วนมากเรียกตามนามเดิมว่า  “หลวงพ่อวิริยังค์”  เป็นเจ้าอาวาส  วัดธรรมมงคล  สุขุมวิท 101  เขตพระโขนง  กรุงเทพมหานคร อาตมา จิตเริ่มเป็นสมาธิครั้งแรก  เมื่ออายุเพียง 13 ปี  ที่วัดป่าสว่างอารมณ์  ซึ่งมีหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ  เป็นเจ้าอาวาส  นับตั้งแต่นั้น การทำสมาธิได้ดำเนินติดต่อกันเรื่อยมา จนกระทั่งอายุ 15 ปี หลวงปู่กงมาจึงบวชให้เป็น ตาปะขาวอยู่รับใช้ท่าน เมื่ออายุ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ปฏิบัติสมาธิกับท่านทั้งในป่าไม้ภูเขาและตามวัดอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ รวมการอยู่เรียนสมาธิกับท่านเป็นเวลา  8  ปีเต็ม  จึงมีความรู้เรื่องสมาธิสามารถสอนผู้อื่นได้
หลวงปู่กงมาได้พาอาตมาไปอยู่กับหลวงปู่มั่นเมื่อ พ.ศ. 2484  ขณะนั้นมีอายุ  22  ปี พอดีหลวงปู่กงมาบอกอาตมาว่า “วิริยังค์  หลวงปู่มั่น  ภูริทัตตะเถระ  เป็นปรจารย์และเป็นอาจารย์ของเรา สมาธิทุก ๆ ขั้นตอนเราได้สอนเธอไปหมดแล้ว  ต่อไปนี้เธอจะได้เรียนสมาธิกับท่านปรมาจารย์  เธอจงอย่าประมาท  จงปฏิบัติหลวงปู่มั่นแบบถวายชีวิต  เธอจะได้ความรู้อย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าที่เราสอนอีกมากนัก”
อาตมารับคำตักเตือนจากหลวงปู่กงมาด้วยความตื้นตันใจ  ดังนั้นในปี  พ.ศ. 2484  จึงเป็นปีเริ่มศักราชใหม่ของอาตมา  โดยที่หลวงปู่มั่น  รับเข้าเป็นศิษย์แบบใกล้ชิด  ที่เรียกว่า  ท.ส. อาตมาจึงได้เป็นพระอุปัฏฐากท่านตั้งแต่นั้นมา
นับว่าเป็นโอกาสดีที่สุดในชีวิต ที่อาตมาได้อยู่ใกล้ชิด ท่านปรมาจารย์ด้านสอนสมาธิ  และเป็นโอกาสที่อาตมาจะได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดของสมาธิ นับเป็นบุญญาธิการยิ่งใหญ่นักของอาตมาที่จะนำเอาหลักการสมาธิมาเป็นประโยชน์  และก็เหมือนท่านรู้ซึ้งถึงจิตใจของอาตมาที่ต้องการรู้เรื่องสมาธิอย่างกว้างขวาง  ท่านได้ให้โอกาสแก่อาตมาเป็นพิเศษในการไต่ถามอัตถปัญหาเรื่องของสมาธิ  ถ้าอาตมาไม่ถามท่านก็ยกปัญหาขึ้นถามและท่านก็ตอบเอง  ดังนั้นระยะเวลาอยู่ใกล้ชิด  4  ปี และอยู่นอกพรรษา  หมายถึงเดือนตุลาคมไปถึงเดือนมิถุนายนเป็นเวลาอีก 5 ปี รวมทั้งหมด  9  ปี  จึงเป็นอันว่าปัญหาของสมาธิได้ถูกชี้แจงอย่างหมดเปลือกจริง ๆ ซึ่งบางครั้งปัญหาเข้าขั้นสำคัญ ท่านให้อาตมาอยู่ด้วยกับท่านสองต่อสองตลอดเวลา และแก้ไขปัญหานั้น  ซึ่งมีครั้งหนึ่งอาตมาต้องใช้เวลาอยู่กับท่านสองต่อสองนานถึง  3  เดือน
ผลงานชิ้นแรกที่อาตมาได้ทำ คือ เมื่ออยู่กับท่านในปีที่  2  อาตมาได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านตลอดพรรษา เมื่อได้บันทึกแล้วอาตมาก็ได้ถวายให้ท่านตรวจดู  ท่านพอใจและไว้ใจอาตมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจากการบันทึกในครั้งนั้นได้นำมาพิมพ์เป็น หนังสือมุตโตทัย  ที่โด่งดังอยู่ในเวลานี้  เพราะได้ถูกพิมพ์เผยแผ่กว่าล้านเล่ม
ระหว่างที่อาตมาอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น  ได้ทราบข้อเท็จจริงมากทั้งสมาธิตื้น สมาธิลึก  ตลอดถึงวิปัสสนา  ซึ่งเมื่อเข้าใจทุกประการแล้ว  อาตมามีความรักและหวงแหนในหลักการต่าง ๆ อย่างยิ่งไม่อยากที่จะให้หลักการเหล่านั้นต้องสลายไป  เพราะท่านมีวิธีทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูงสุด  อาตมาถามท่านว่า  “ต่อไปกระผมจะเขียนเป็นหลักการให้ชาวโลกเขาทำกันจะได้ใหม”  ท่านตอบว่า “ต้องเอาแบบขั้นพื้นฐานสำหรับเป็นประโยชน์แก่มหาชน  สำหรับขั้นสูงให้มีน้อย  โอกาสที่เธอจะทำนั้นมีอยู่  แต่ต้องทำขั้นพื้นฐานเพื่อคนส่วนมากในโลกจะได้สงบ  และเธอต้องไปอยู่กรุงเทพ  เพราะคนกรุงเทพที่มีวาสนาบารมี  มีอยู่ไม่น้อย”
ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้  เป็นแรงสนับสนุนในใจของอาตมาอยู่ตลอดเวลาจน พ.ศ. 2529 ถึง พ.ศ. 2534  อาตมาได้มีโอกาสไปพักผ่อนที่วิทยาลัยสงฆ์น้ำตกแม่กลาง  อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่  อันเป็นบริเวณป่าไม้ ภูเขาดอยอินทนนท์  ทำให้ได้ทบทวนหลักการต่าง ๆ ที่เคยได้ไต่ถามอัตถปัญหาสมาธิ พร้อมทั้งคำแนะนำจากหลวงปู่มั่น  จึงได้เขียนเป็นตำราสมาธิขึ้นจนเต็มรูปแบบสามารถใช้ในการเรียนการสอนวิชาสมาธิได้ รวมการทบทวนและรวบรวมการเขียนตำรานั้น  ใช้เวลา  5  ปีจึงสำเร็จ  เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระที่สำคัญ  จึงจัดทำเป็นรูปเล่มตั้งแต่  ขั้นพื้นฐาน  ขั้นกลาง และขั้นสูง  รวม  3  เล่ม  เหมาะแก่การศึกษาและปฏิบัติสมาธิยิ่งนัก
ในขณะเขียนตำราสมาธิ  ก็มาคำนึงว่าชาวโลกได้พัฒนาก้าวไปไกลถึงยุคโลกาภิวัฒน์ เขาได้ลงทุนสร้างวัตถุต่าง ๆ ทั้งแหล่งบันเทิงเริงรมณ์  ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสบายทั้งหลายทั้งที่อยู่อาศัย  ทั้งรถยนต์  เรือยนต์  เครื่องบิน  สามารถย่นระยะทางไกลให้ใกล้ไปมาได้ง่าย  ทั้งโทรทัศน์  โทรศัพท์  โทรสาร  คอมพิวเตอร์  อินเตอร์เนท  และอีเมลล์  ก็ย่นระยะการติดต่ดสื่อสารกันได้อย่างสบาย ทั้งหมดเงินเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน เขาก็ยังลงทุนกันได้ แล้วทำไม ? เราจะต้องลงทุนสร้างนครธรรมให้ทันสมัยด้วยไฮเทคต่าง ๆ เพื่อย่นระยะการศึกษาและปฏิบัติธรรมะบ้างมิได้หรือ ?
จึงได้คิดสร้างนครธรรมขึ้นเมื่อ  พ.ศ. 2529 และได้ดำเนินการสร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 ซึ่งก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะคนส่วนมากเข้าใจแต่การสร้างโบสถ์  วิหาร  ศาลาการเปรียญ  บวชพระ  ถวายสังฆทาน  เป็นต้น  จึงจะได้บุญกุศล แต่จะมาสร้างนครธรรมสอนคนด้วยไฮเทคนี้  ไม่รู้ว่าจะได้บุญตรงไหน แต่ด้วยใจที่มีความมุ่งมั่นของผู้สร้าง  จึงพยายามพูดให้สาธุชนทั้งหลายเข้าใจในการทำบุญกุศล  จนสามารถมีผู้บริจาคสร้างสำเร็จ เมื่อพ.ศ. 2539  จึงเป็น นครธรรมยุคไฮเทค  แหล่งย่นระยะการศึกษาธรรมะล้ำยุค  สุดอลังการ ณ วัดธรรมมงคล ในเนื้อที่  4,800  ตารางเมตร ใต้ฐานพระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร  คือสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมทันสมัย  มีห้องเรียนภาคทฤษฎี  มีห้องเรียนภาคปฏิบัติทั้งนั่งสมาธิและเดินจงกรม  มีห้องชมธรรมะด้วยสไลด์มัลติวิชั่น  มีห้องสนทนาธรรม  มีห้องสมุดธรรมะ  มีห้องธุรการ  มีห้องอาหารและเครื่องดื่ม  มีห้องสำนักงานประทีปเด็กไทย  เพื่อช่วยเหลือเด็กทั่วเมืองไทย  มีห้องถ้ำวิปัสสนาไว้ให้ปฏิบัติธรรมเป็นต้น ผู้ที่มาศึกษาและปฏิบัติธรรมจะได้รับความสะดวกสบายในห้องแอร์คอนดิชั่นอย่างดี  เป็นการลงทุนสร้างนครธรรมให้ทันสมัย เพื่อสุขภาพใจโดยเฉพาะจึงเหมาะแก่คนยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ได้มาศึกษาและปฏิบัติธรรม  ทั้งมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ทั้งจะได้รับความรู้และความสุขใจเป็นอย่างยิ่ง นี้คือ นครธรรม สถานที่ตั้ง สถาบันพลังจิตตานุภาพ ในใจกลาง กรุงเทพมหานคร
ด้วยเหตุนี้ จึงได้ประกาศเปิดสอนหลักสูตรครูสมาธิขึ้น  ณ  นครธรรม  วัดธรรมมงคล และเปิดรับสมัครนักศึกษาอย่างเป็นทางการเมื่อ  วันที่  24  มิถุนายน  2540  มีบุคคลที่มีความรู้ตามกำหนดมาตรฐานมาสมัครเรียนถึง  200  กว่าคน  เริ่มเปิดสอนเมื่อ  วันที่  24  กรกฎาคม  2540  เป็นรุ่นแรกเรียกว่า  รุ่นปฐโม  (รุ่นพยัคฆ์)  ดำเนินการสอนโดยพระเทพเจติยาจารย์  ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติพร้อมทั้งนำไปสอบปฏิบัติภาคสนาม  จึงจะจบครบตามหลักสูตร  ในหลักสูตรนี้แบ่งออกเป็น  3  เทอม ๆ ละ  40  วัน  มีการปิดภาคเรียนเทอมละ  7 - 15  วัน เปิดเรียน วันจันทร์ - วันศุกร์  เวลา  18.00 น. - 20.20 น. วันละ  2  ชั่วโมง  เริ่มชั่วโมงแรกเรียนภาคทฤษฎี  40 นาที  ถาม - ตอบ  เพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง  20  นาที  รวมเป็น 1 ชั่วโมง  หยุดพัก 20 นาที ต่อจากนั้นเรียนภาคปฏิบัติเดินจงกรม  30  นาที  และนั่งสมาธิอีก  30  นาที  รวมเป็น 1 ชั่วโมง  เมื่อเรียนจบทั้ง 3 เทอมแล้ว มีการสอบข้อเขียน ทั้งภาคทฤษฎีและสอบภาคปฏิบัติ ตลอดถึงการสอบสัมภาษณ์ และในขั้นสุดท้ายจะต้องไปสอบปฏิบัติภาคสนาม  บนดอยอินทนนท์ที่สูงที่สุดในเมืองไทย  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นเวลา 4  วัน 3 คืน  จึงจะมีสิทธิ์จบหลักสูตรครูสมาธิ  200  ชั่วโมง และสุดท้ายจึงจัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรให้
จากการเรียนการสอนที่ผ่านมาของนักศึกษา  ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างสมบูรณ์  ผลที่ออกมาจึงทำให้นักศึกษาได้รับความรู้ความเข้าใจ และได้ทั้งประสบการณ์ด้านการปฏิบัติเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง  นับเป็นปรากฏการณ์ในการศึกษาสมาธิในยุคปัจจุบัน  ทำให้ผลงานนี้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่ววงการต่าง ๆ  จะเห็นได้จากการมีผู้มาสมัครเรียนหลักสูตรครูสมาธิเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
เมื่อมีการเรียนการสอนตามระบบของหลักสูตรดังได้กล่าวมาแล้ว  จึงมีความพร้อม คือมีทั้งอาจารย์ผู้สอน  มีนักศึกษา  มีอาคารสถานที่  มีอุปกรณ์การเรียนการสอนครบถ้วนบริบูรณ์ที่ นครธรรม  อันเป็นสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษาครูสมาธิ   เรียกว่า    “สถาบันพลังจิตตานุภาพ” (Willpower Institute) เป็นสถานที่ศึกษาสมาธิทันสมัยในยุคปัจจุบัน ผู้ที่เข้ามาศึกษาจะได้รับประโยชน์จากสถาบันแห่งนี้อย่างเต็มที่  ทั้งจะเป็นผลดีต่อชาติ  ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และก่อให้เกิดความสงบ ร่มเย็นเป็นสุขแก่โลกมากยิ่งขึ้นต่อไป

หลักสูตรครูสอนสมาธิ

เป็นหลักสูตรครูสมาธิที่เปิดสอนให้แก่ บุคคลทั่วไป ณ สถาบันพลังจิตตานุภาพ วัดธรรมมงคล      ในการเรียนการสอนนักศึกษา จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับสมาธิเบื้องต้นตั้งแต่การเริ่มบริกรรม จนถึงสมาธิชั้นสูง ที่หลวงพ่อวิริยังค์ได้เรียน มาจากพระอาจารย์ใหญ่ เช่น พระอาจารย ์มั่น พระอาจารย์กงมา และจากประสบการณ์ชีวิตการ ปฏิบัติสมาธิ   ของท่านกว่า ๖๐ ปี นอกจากผู้เรียนจะเข้าใจ การทำสมาธิ ทั้งสมถะ-วิปัสสนา อย่างถี่ถ้วนแล้ว ยังสามารถเป็นครูสอนสมาธิแก่บุคคล อื่นได้ โดยถูกต้องด้วย
จากคำสอนของ.............พระเทพเจติยาจารย์(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)





***********************

















หลักสูตรครูสอนสมาธิ


เป็นหลักสูตรครูสมาธิที่เปิดสอนให้แก่ บุคคลทั่วไป ณ สถาบันพลังจิตตานุภาพ วัดธรรมมงคล ในการเรียนการสอนนักศึกษา จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับสมาธิเบื้องต้นตั้งแต่การเริ่มบริกรรม จนถึงสมาธิชั้นสูง ที่หลวงพ่อวิริยังค์ได้เรียน มาจากพระอาจารย์ใหญ่ เช่น พระอาจารย ์มั่น พระอาจารย์กงมา และจากประสบการณ์ชีวิตการ ปฏิบัติสมาธิ ของท่านกว่า ๖๐ ปี นอกจากผู้เรียนจะเข้าใจ การทำสมาธิ ทั้งสมถะ-วิปัสสนา อย่างถี่ถ้วนแล้ว ยังสามารถเป็นครูสอนสมาธิแก่บุคคล อื่นได้ โดยถูกต้องด้วย


จากคำสอนของ.............พระเทพเจติยาจารย์(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)


"การทำสมาธิแบบบริกรรม"
การบริกรรม ทำให้จิตเป็นหนึ่ง
จิตเป็นหนึ่ง ทำให้เกิดความสงบ
ความสงบ ทำให้จิตมีพลัง
จิตมีพลัง ทำให้มีสติระลึกรู้
มีสติระลึกรู้ ทำให้เกิดสติปัญญา
มีสติปัญญา ทำให้รู้ทันอารมณ์
การรู้ทันอารมณ์ ทำให้จิตเป็นกลางได้


ประโยชน์ของสมาธิ
1. ทำให้หลับสบายคลายกังวล
2. กำจัดโรคภัยไข้เจ็บ
3. ทำให้สมองปัญญาดี
4. ทำให้มีความรอบคอบ
5. ทำให้ระงับความร้ายกาจ
6. บรรเทาความเครียด
7. มีความสุขพิเศษ
8. ทำให้จิตใจอ่อนโยน
9. กลับใจได้
10. เวลาสิ้นลมพบทางดี
11. เจริญวาสนาบารมี
12. เป็นกุศล




วัตถุประสงค์ของการทำสมาธิ คือการสร้างพลังจิต พลังจิตที่ได้จากการทำสมาธิมี ๒ ประเภท คือพลังหลัก และพลังเฉลี่ย
พลังหลัก - จะถูกเก็บสะสมไว้ในจิต ไม่มีการแตกสลายตามกายเนื้อแต่สะสมข้ามภพ-ชาติ พลังเฉลี่ย - จะถูกใช้ไปในชีวิตประจำวัน การทำสมาธิ เริ่มจากการบริกรรม กำจัดความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ออกไป จนกว่าจิตจะสงบเบา สมาธิต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีอารมณ์ กำจัดได้มากเท่าไรก็เป็นสมาธิได้ลึกเท่านั้น เพราะ การทำสมาธิเป็นการกะเทาะอารมณ์ออกจากจิต เปรียบดังกะเทาะสนิมออกจากเนื้อเหล็ก ความนึกคิด การเคร่งเครียดต่อการงานทุกวัน ทำให้สมองต้องทำงานตลอดเวลาไม่มีเวลาพัก ยิ่งคิดหรือ เคร่งเครียด มากก็ยิ่งเป็นเหตุให้สมองมีความเสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่ากำหนด การว่างจากความคิดเสียบ้าง จึงเป็นวิธีที่ทำให้สมองได้รับการพักผ่อน การทำสมาธิจึงเป็นการหยุดพักที่มีประสิทธิภาพ เปรียบเหมือนคนเดินทางไกลหลังจากการหยุดพักสักวัน ชั่วโมงหรือไม่กี่นาที ก็ย่อมได้เรี่ยวแรงกลับมา


การทำสมาธิ มี ๒ แบบคือ สมถะ และวิปัสสนา
สมถะ ต้องการให้ทรงสติสัมปชัญญะ ได้ความสงบ สุขสบาย
วิปัสสนา เพื่อการรู้แจ้งเห็นจริง ใช้ปัญญาเป็นเครื่องภาวนาตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕
การทำสมาธิเบื้องต้นจำต้องมีสมถะ คือ ควบคุมอารมณ์จิตให้ทรงอยู่ ถ้าอารมณ์ไม่ทรงตัว วิปัสสนาจะไม่มีผล เป็นวิปัสสนาตะครุบเงา หรือวิปัสสนาตกน้ำ


วิปัสสนาตกน้ำ คำพังเพย
เหมือนเงาเพชรใต้น้ำเอย บอกให้
งมเอาเพชรเลย งมเปล่า แลนา
วิปัสสนาขาดสมาธิไซร้ ผิดแล้ว ทางกลาง


การทำสมาธิต้องมีขั้นตอน การทำสมาธิขั้นต้นจึงต้องปูรากฐานด้วยความระมัดระวัง ควรจะมีผู้รู้คอยแนะนำ เปรียบเหมือนขั้นตอนของหมอรักษาโรคภัยไข้เจ็บ คนที่ไม่ไปหาหมอ แต่ซื้อยามารับประทานเองตามคำแนะนำ ของบางคน อาจจะเป็นอันตรายหรือไม่ปลอดภัย เช่นเดียวกับผู้ฝึกสมาธิที่ไม่มีครูอาจารย์แนะนำ คลำ ๆ ทำไป ก็คงจะได้ผลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่แน่นอน เหมือนกับคนไข้รับประทานยากลางบ้านไม่มีหมอสั่งให้
สมาธิมีคุณสมบัติ : ซึมซาบ อ่อนละมุน นุ่มนวลแต่เหนียวแน่น เหมือนลมละเอียดชนิดหนึ่งที่ถูกกลั่นกรองแล้วคล้ายปุยนุน เพียงแต่ปุยนุ่นไม่แกร่ง แต่สมาธิแกร่ง


ขั้นตอนของการเดินจงกรม


๑. กำหนดเส้นทางจงกรม
๒. ยืนตรงจุดเริ่มต้นทางเดินจงกรม พนมมือระหว่างอกแล้ว หลับตากล่าว คำอธิษฐานเดินจงกรม ว่า
" เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา "
ขอให้ใจของข้าพเจ้าาจงสงบเป็นสมาธิ
ยกมือที่พนมสูงขึ้นระหว่างคิ้ว กล่าวในใจว่า "สาธุ"
๓. เอามือลง ใช้มือขวาจับมือซ้าย ห้อยมือพอสบายไม่เกร็ง
๔. กำหนดจิตไว้ที่หน้าผาก ไม่ต้องหลับตา ตามองทางเดินจงกรมไกลว่าตัวประมาณ ๑.๕ - ๒ เมตร
๕. เริ่มบริกรรมคำว่า " พุทโธ ๆ " อยู่ในใจ พร้อมก้าวเท้าขวาเดินตามด้วยเท้าซ้าย ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป เดินในลักษณะเดินปกติ
๖. เมื่อเดินสุดทางจงกรม ให้ค่อย ๆ หมุนตัวกลับทางขวา ยืนทรงตัวตรง แล้วจึงเริ่มก้าวด้วยเท้าขวาเหมือนตอนเริ่มต้น
๗. เมื่อครบตามเวลาทำกำหนด ให้ยืนตรงจุดเริ่มต้นเดิน พนมมือระหว่างอก กล่าวในใจว่า
" สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ "
ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุข ๆ เถิด
แล้วยกมือที่พนมขึ้นระหว่างคิ้วแล้วกล่าวในใจว่า " สาธุ " เป็นอันจบพิธีการเดินจงกรม


วิธีนั่งสมาธิ


นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายตรง ยกมือพนมระหว่างอก กล่าวคำอธิษฐานสมาธิ
" ข้าพเจ้า ระลึกถึง คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดา มารดา คุณครูบาอาจารย์ จงมาดลบันดาล ให้เจ้าของข้าพเจ้า จงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ... พุทโธ ธัมโม สังโฆ ... พุทโธ ธัมโม สังโฆ ... พุทโธ ๆ ๆ
เอามือลง วางบนตัก มือขวาทับมือซ้าย หลับตาเบา ๆ บริกรรม พุทโธ ๆ ๆ ........ ในใจจนกว่าจะเลิก ตามเวลาที่กำหนด
หลังจากนั้นให้ตั้งใจสวดแผ่เมตตาพิเศษ ดังนี้


สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ, อะเวรา สุขะชีวิโน
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีเวรต่อกันและกัน จงเป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อเถิด
กะตัง ปุญญัง ผะลัง มัยหัง, สัพเพ ภาคี ภะวันตุ เต
ขอให้สัตว์ทั้งสิ้นนั้น จงเป็นผู้มีส่วนได้เสวยผลบุญ อันที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนั้นเทอญ


***********************

การทำสมาธิมิใช่เรื่องเล็กน้อย


***ให้กด play แล้ว รอสักครู่จน buffering เสร็จ กดปิดชั่วคราวก่อน รอดูแถบแสดงช่วงเวลาโหลดให้เต็ม แล้วค่อยกด play อีกครั้ง จะดูได้ไม่ติดขัด



*******************************

การเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องทำความดี โดยหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร








"การเตือนตนโดยตน" โดยพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร


กำไรชีวิต โดยพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร


***ให้กด play แล้ว รอสักครู่จน buffering เสร็จ กดปิดชั่วคราวก่อน รอดูแถบแสดงช่วงเวลาโหลดให้เต็ม แล้วค่อยกด play อีกครั้ง จะดูได้ไม่ติดขัด



อานิสงส์ของการแผ่เมตตา








อานิสงส์ของการแผ่เมตตา 

ดูก่อน.. ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลน้อมไว้ภายในแล้ว  เจริญแล้ว  ทำให้มากแล้ว  ทำให้เป็นดุจยาน  ทำให้เป็นที่ตั้ง  ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ  สั่งสมดีแล้ว ปรารภดีแล้ว.. พึงหวังอานิสงส์ 11 ประการด้วยกันคือ
1. เวลาหลับ ย่อมหลับเป็นสุข
2. เวลาตื่น ย่อมตื่นเป็นสุข
3. เวลาฝัน  ย่อมไม่ฝันร้าย
4. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
5. ย่อมเป็นที่รักของอมุษย์ทั้งหลาย
6. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
7. ไฟ ยาพิษ หรือศาสตรา ย่อมไม่อาจกล้ำกลายได้
8. จิตย่อมตั้งมั่นได้โดยรวดเร็ว
9. สีหน้าย่อมผ่องใส
10.ไม่เป็นผู้ที่ตายด้วยความลุ่มหลง
11.เมื่อไม่บรรลุมรรคผลข้อใดข้อหนึ่ง (โสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามี,อรหันต์) เมื่อตายไป ย่อมเป็นผู้ไม่ตกต่ำ  จะถือกำเนิดในพรหมโลก

หมายเหตุ:-

วิธีการเจริญเมตตานั้น เราสามารถกระทำได้โยการแผ่สติให้ครอบคลุมทั่วร่างกาย ทั่วตัวทั่วพร้อมเอาไว้ จากนั้นจึงน้อมระลึกถึงอารมณ์เมตตาความปรารถนาดีที่ต้องการให้ผู้อื่นเป็นสุข พ้นจากความทุกข์และสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ให้บังเกิดขึ้นภายในร่างกายของเราก่อน ให้กายของเรานั้นคลุกเคล้าไปด้วยกระแสอารมณ์ของเมตตานั้น เมื่อจิตมีกำลัง มีสมาธิมากขึ้น กระแสเมตตาจิตนี้จะน้อมแผ่ซ่านกระจายออกไปทั่วทิศทั่วทาง ยิ่งจิตมั่นคงปล่อยวางจากความคิดและอารมณ์อื่นได้มากเท่าไหร่ กระแสของเมตตาจิตนี้ก็จะยิ่งมีกำลังและแผ่กระจายออกไปกว้างขวางมากเท่านั้น
หรือบางครั้ง เพียงแค่เราทำจิตให้นิ่งสงบปราศจากความเศร้าหมองของใจ มีจิตที่ดำรงตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ แล้วแผ่กระแสความสงบนั้นให้ครอบคลุมทั่วร่างกายทั่วตัวทั่วพร้อม ก็อาจสงเคราะห์เป็นเหมือนการแผ่เมตตาได้เช่นกัน (เพราะจิตที่ไม่มีความโกรธ ไม่มีความผูกโกรธเอาไว้)
สำหรับกรณีที่จะแผ่เมตตาให้กับบุคคลนั้น ก็ให้กระทำหลังจากที่จิตดำรงตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีกายคลุกเคล้าไปด้วยอารมณ์แห่งเมตตาได้แล้ว จึงค่อยน้อมแผ่ไปให้กับบุคคลนั้น โดยอาศัยการนึกถึงบุคคลนั้นแล้วน้อมอารมณ์ความรู้สึกจากกายให้ส่งต่อไปยังความคิดที่กำลังนึกถึงบุคคลนั้น (หากลืมตาเห็นบุคคลนั้นอยู่ก็ให้น้อมความรู้สึกออกไปทั้งทางกายและดวงตาด้วย หรือ อาจจะน้อมแค่เฉพาะความรู้สึกส่งไปให้โดยที่ตาเราไม่จำเป็นต้องมองไปทางบุคคลนั้นก็ได้)
อานิสงส์ของการเจริญเมตตา(อัปปมัญญา)เช่นนี้ นอกจากจะทำให้เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ยังส่งผลช่วยในการบรรเทาวิบากกรรมที่ไม่ดีให้เบาบางลง และทำให้เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรมให้กับเราได้ง่ายขึ้น ทำให้ชีวิตประสบแต่สิ่งที่ดี เป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์ ลาภยศทั้งหลาย คลาดแคล้วปลอดภัยจากอันตรายหรือสิ่งไม่ดีทั้งหลาย รวมทั้งเป็นวิหารธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของจิตอันทำให้มีความสุขในปัจจุบัน

Web Hosting